ประวัติ
ประวัติ
ประวัติ
สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (BIT)
ภูมิหลังของคริสตจักรภาค 7 (ค.ศ. 1924-1934)
ในปี ค.ศ. 1924 ศจ.ซิวเต็ง แซ่อึ้ง ซึ่งรับใช้พระเจ้าในสมาคมพระคริสตธรรมไทยและศาสนาจารย์ประจำคริสตจักรสะพานเหลือง ได้ท้าทายเชิญชวนคริสตจักรจีนในประเทศไทยในขณะนั้นให้รวมตัวกันตั้งเป็น ศูนย์ประสานงานคริสตจักรจีนในประเทศไทยเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันและรวมพลังรับใช้พระเจ้าให้เกิดผลยิ่งขึ้นมีการตอบสนองเป็นอย่างดีโดยมีคริสตจักรไมตรีจิต(คริสตจักรแห่งแรกในประเทศไทย)คริสตจักรสะพานเหลือง(คริสตจักรที่ 3 ของคริสตจักรเพรสไบทีเรียนและคริสตจักรจีนแห่งแรกของคณะเพรสไบทีเรียนในประเทศไทย) และคริสตจักรสาธร (คริสตจักรที่ 6 ของคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในประเทศไทย) เป็นแกนนำศูนย์ประสานงานคริสตจักรจีนในประเทศไทย ได้เริ่มต้นพันธกิจและดำเนินการอย่างดีมาตลอดมา จนถึงปี ค.ศ. 1934 จึงได้ร่วมมือกับคริสตจักรอื่นๆ ในประเทศซึ่งมีอยู่แล้ว 6 ภาค ก่อตั้งสภาคริสตจักรในประเทศไทยโดยใช้ชื่อคริสตจักรภาค 7 เป็นภาคของคริสตจักรจีนทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย คริสตจักรไมตรีจิตคริสตจักรสะพานเหลือง คริสตจักรสาธร คริสตจักรแปดริ้ว คริสตจักรชลบุรี คริสตจักรหนองงูเหลือม คริสตจักรนครปฐม คริสตจักรเพชรบุรี คริสตจักรหนองแก คริสตจักรทับเที่ยง แม้คริสตจักรจีนมีภูมิหลังการก่อตั้งคริสตจักรมาจากต่างคณะที่ต่างกัน เช่น คณะเพรสไบทีเรียน คณะแบ๊บติสต์ และคณะดิสไซเปิลส์ แต่ก็สามารถร่วมรับใช้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างดีตลอดมา
คริสตจักรภาค 7 ได้ร่วมมือกันรับใช้พระเจ้าอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานฟื้นฟูด้วยกัน เช่น การฟื้นฟูของ ดี. จอห์น ซง ในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งไม่เพียงช่วยให้คริสตจักรจีนในประเทศไทยตื่นตัวรับการเสริมสร้างฝ่ายจิตวิญญาณอย่างดีแล้ว คริสตจักรจีนในกรุงเทพยังได้ร่วมกันจัดตั้งทีมประกาศพระกิตติคุณไปประกาศตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้คณะกรรมการคริสตจักรภาค 7 ยังได้ร่วมรับใช้พระเจ้าด้วยการเยี่ยมเยียนคริสตจักรในต่างจังหวัด พันธกิจสำคัญอีกอย่างที่คริสตจักรภาค 7 ได้ทำในช่วงนั้นคือการเสริมสร้างบุคลากรที่เป็นผู้รับใช้พระเจ้า โดยได้ร่วมกันก่อตั้ง โรงเรียนอบรมพระคัมภีร์ ขึ้นในปี ค.ศ. 1941 (ปัจจุบันคือสถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์, บีไอที) เพื่อเตรียมผู้รับใช้พระเจ้าให้กับคริสตจักรจีนในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกจึงเป็นอนุชนระดับแกนนำของคริสตจักรในขณะนั้น ทั้งคริสตจักรไมตรีจิต คริสตจักรสะพานเหลือง และคริสตจักรสาธร

ปัจจุบันสถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ มีอายุ 84 ปีแล้ว (ค.ศ. 1941-2025)
เริ่มต้นจากปี ค.ศ.1941 คริสตจักรภาค 7 ที่พบว่าเนื่องจากสงครามเอเชียบูรพา คริสตจักรจีนในเวลานั้นไม่สามารถเชิญผู้รับใช้มาจากประเทศจีนได้ และคริสตจักรจีนก็ยังขาดผู้รับใช้พระเจ้าอีกมาก ขณะเดียวกันมีอาจารย์เจียว เหวย เจิน จากพระคริสตจักรในเมืองเซี่ยงไฮ้มาเทศนาฟื้นฟูและสอนพระคัมภีร์ เมื่อทำพันธกิจเสร็จแล้ว ท่านเองก็ไม่สามารถกลับประเทศจีนเพราะอยู่ในช่วงสงคราม คณะธรรมกิจคริสตจักรภาค 7 จึงเชิญท่านช่วยเปิดอบรมสร้างอนุชนในขณะนั้นเตรียมให้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าต่อไป ดังนั้น “ศูนย์อบรมพระคัมภีร์เหล่งกวง” หลักสูตร 2 ปี จึงได้เกิดขึ้น โดยใช้สถานที่ที่คริสตจักรสาธร มีนักศึกษารุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษามาจากแกนนำของคริสตจักรไมตรีจิต คริสตจักรสะพานเหลือง และคริสตจักสาธร อย่างไรก็ตาม “ศูนย์อบรมพระคัมภีร์เล่ากวง” สร้างผู้รับใช้พระเจ้าได้ 2 รุ่นเท่านั้นก็ต้องปิดไป
“ศูนย์อบรมพระคัมภีร์เหล่งกวง” ได้เริ่มต้นใหม่ในปี 1949 โดยศิษยาภิบาลของคริสตจักรสะพานเหลือง คือ ศจ.เกรแฮม ฟูเลอร์ โดยใช้อาคารที่พักในซอยสะพานสว่าง การศึกษาใช้เวลา 3 ปี หลักสูตรแบบโรงเรียนอบรมพระคัมภีร์ จนเมื่อปี 1951 ศจ.เกรแฮม ฟูเลอร์ กลับสหรัฐอเมริกาจึงมอบให้ ศจ.คลิฟฟอร์ด เชฟฟี่ เข้ามาดูแลเป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1949-1959 มีนักศึกษาจบ 5 รุ่นด้วยกัน
เมื่อโรงเรียนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เพราะมีศิษย์เก่าที่ได้สำเร็จการศึกษาไปรับใช้พระเจ้าในที่ต่างๆ ทั้งคริสตจักรจีนและคริสตจักรไทย ได้เป็นพยานชีวิตการรับใช้พระเจ้าที่ดี ไม่เพียงแต่อยู่ในคริสตจักรภาค 7 ยังมีภาคอื่นๆ ที่อยู่ในสภาคริสตจักรในประเทศไทยด้วย
ปี ค.ศ. 1965-1966 คณะธรรมกิจภาคก็สร้างตึกใหม่ขึ้น ประกอบด้วยห้องสมุด เวทีการแสดง ห้องพักอาจารย์หญิงและหอพักนักศึกษาหญิง ซึ่งนับเป็นการพัฒนาและขยายโรงเรียนให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือการเริ่มเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสมาคมศาสนศาสตร์ศึกษาแห่งเอเชียอาคเนย์ (Association for Theological Education in South Asia-ATESEA) ในปี ค.ศ. 1970 และมีการจัดหลักสูตรตามสถาบันศาสนศาสตร์สากล
ปี ค.ศ. 1971 ได้เปลี่ยนชื่นจากโรงเรียนอบรมพระคัมภีร์คริสเตียนเป็น “โรงเรียนกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์” ในปี ค.ศ. 1975 ได้เข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของสมาคมศาสนศาสตร์ศึกษาแห่งเอเชียอาคเนย์ (ATESEA) และสมาคมศาสนศาสตร์ศึกษาแห่งเอเชีย (Asia Theological Association – ATA)
ปี ค.ศ. 1980 ได้เริ่มหลักสูตรศาสนศาสตร์ตรี (B.Th.) และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับศาสนศาสตร์ตรี จากสมาคมศาสนศาสตร์ศึกษาแห่งเอเชียอาคเนย์ (ATESEA) ในปี 1984 และจาก ATA ในปี 1989 แต่ได้ถอนตัวออกจาก ATA ในเวลาต่อมา และต่อมาในปี 1995 ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับศาสนศาสตร์โท (M.Div.) จาก ATESEA
ในปี 1985 สถาบันได้ย้ายมาอยู่ที่บางจากซึ่งเป็นสถานที่ปัจจุบันด้วยการสร้าง "อาคารปัญญาจารย์" และ "หอพักเบธเอล" แล้วได้เริ่มโครงการพันธกิจคริสตจักร (School of Ministry - SOM) ในปี 1992 และในปี 2000 ก็ได้ซื้อที่ดิน 52 ไร่ที่ อ.วังม่วง จ.สระบุรี
ในปี 2003 สถาบันได้สร้างและถวายหอพัก “เบธานี” และถวายอาคาร “โชตินันทเศรษฐ์” ซึ่งเป็นอาคารเรียน ห้องประชุม ห้องสมุด และห้องนมัสการ อีกทั้งใช้ส่วนหนึ่งของอาคารเป็นที่ตั้งสำนักงานคริสตจักรภาค 7 ต่อมา ในปี 2006 สถาบันได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยคริสเตียนแล้วพัฒนาไปสู่การเป็น "คณะคริสตศาสนศาสตร์" เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์ (BA in Theology) และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาคริสตศาสนศาสตร์ (MA in Theology) ที่ได้การรับรองจากรัฐบาลและ ATESEA แต่นับตั้งแต่ปี 2016 หลักสูตร MA in Theology ได้เปลี่ยนเป็น MDiv ที่ยังได้รับการรองจาก ATESEA เช่นเดิม


จุดเด่นของสถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์
1. สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) เกิดขึ้นจากความต้องการผู้รับใช้พระเจ้าของคริสตจักรในขณะนั้น (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941)
และได้พัฒนาจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 83 ปีแล้ว ได้ผลิตผู้รับใช้พระเจ้าให้กับคริสตจักรภาค 7 และภาคอื่นๆ ในสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย และคริสตจักรอื่นๆ ทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น มีประธานธรรมกิจคริสตจักรภาคหลายภาค
2. สถาบันคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) เป็นสถาบันศาสนศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากคริสตจักรในท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มต้น
คริสตจักรภาค 7 ได้ก่อตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อตระเตรียมผู้รับใช้พระเจ้า จึงได้ให้การสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขณะนี้ ไม่ว่าการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่ซอยสวัสดี สุขุมวิทซอย 31 การย้ายมาอยู่ที่สุขุมวิท 101/1 ซอย 37 และอาคารใหญ่ 4 หลัง รวมทั้งที่ดินที่วังม่วง สระบุรี 52 ไร่ แน่นอนมีพี่น้องที่รักสถาบันนี้และได้สนับสนุนอย่างสุดกำลังมากมาย
3. สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) เป็นสถาบันที่ตระเตรียมผู้รับใช้พระเจ้าเพื่อคริสตจักร
ด้วยเหตุนี้เป้าหมายสำคัญ คือ เตรียมผู้รับใช้พระเจ้าที่จะรับใช้พระเจ้าในคริสตจักร ในองค์กรคริสเตียน เช่น สถาบันการศึกษาคริสเตียน โรงพยาบาล คริสตจักร และองค์กรอื่นๆ ของคริสเตียน ทุกวันนี้มีศิษย์เก่าเป็นศิษยาภิบาลอยู่ในคริสตจักรของภาคต่างๆ ในสภาคริสตจักรเกือยทุกภาค บางภาคมีผู้รับใช้พระเจ้ามากกว่า 80%
4. สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) ได้ให้งานส่วนศาสนศาสตร์ระดับตรีเข้าเป็นคณะคริสตศาสนศาสตร์ เป็นปริญญาศิลปศาสตร์บันฑิต สาขาคริสตศาสนศาสตร์ (B.A. in Theology) ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน
5. สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) ได้ให้บริการวิชาการแก่สังคมมาตลอด
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโครงการพัฒนาพันธกิจคริสตจักร (SOM) ร่วมมือกับสภาคริสตจักรในประเทศไทยเปิดอบรมผู้ปกครอง มัคนายก และผู้นำทั่วไป (โครงการ STEP) และโครงการอื่นๆ
6. สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) ได้ให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและเข้าถึงสังคมที่เป็นอยู่
โดยร่วมมือกับองค์กรคริสเตียนที่ทำพันธกิจด้านสังคมโดยเฉพาะ เข้าพื้นที่เรียนรู้ปฏิบัติจริงในพื้นที่ เช่น โครงการสร้างผู้นำอบรมหลักสูตรองค์รวมร่วมกับมูลนิธิดรุณาทร โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชนกับองค์กรศุภนิมิต เป็นต้น
7. สถาบันกรุงเทพคริสตศาสนศาสตร์ (บีไอที) ยึดหลักความเชื่อขั้นพื้นฐาน
คือ เชื่อว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่เป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ได้รับการดลใจ และเชื่อว่าหลักข้อเชื่อของอัครทูต (Apostolic Creed) และหลักข้อเชื่อไนเซีย (Nicene Creed) ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากคริสตจักยุคแรก เป็นหลักความเชื่อพื้นฐานที่ถูกต้องของคริสเตียน
20 พฤษภาคม 2568
ผู้ชม 193 ครั้ง